เกร็ดความรู้........วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันภาษาไทยแห่งชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก ...”
การค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ (ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง)
ศิลาจารึกนี้มีประวัติแห่งการค้นพบ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ทรงเห็นราษฎรเซ่นสรวงบูชาหลักศิลาจารึก ๒ หลัก กับแท่นหินอีก ๑ แท่น โดยที่เขาเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงทรงตรวจดูด้วยวิจารณญาณของนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ ก็ทรงทราบว่า ของเหล่านั้นมีความสำคัญเกี่ยวกับชาติไทยในอดีต มิควรจะปล่อยไว้ให้สูญเสีย จึงทรงนำเข้ามาในพระนคร ในที่สุดหลังจากทรงวิจัยอย่างรอบคอบแล้วก็ได้ความจริงว่า ศิลาจารึกหลักหนึ่งเป็นของพ่อขุนรามคำแหง อีกหลักหนึ่งเป็นของพระมหาธรรมราชาลิไท และแท่นหินนั้นก็ คือ พระแท่นมนังคศิลา ของพ่อขุนรามคำแหง
ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” และ “วันสื่อสารแห่งชาติ” เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
เหตุผล
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ สมควรจะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป ทั้งนี้ในยุคปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการติดต่อสื่อสาร มี่มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อและผูกพันต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยได้รับผลกระทบ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ทำให้ภาษาไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง สภาพการณ์เช่นนี้หากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ การใช้ภาษาไทยของเราก็จะยิ่งเสื่อมลง จะส่งผลเสียหายต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยเป็นทวีคูณ
ทำไมต้องกำหนดวันที่ ๒๙ กรฎาคม เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
เพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว และในโอกาสต่อๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส เช่น ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ภาษาไทยของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน ในวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สุดมิได้แก่วงการ
วัตถุประสงค์
- เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
- เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
- เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
- เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
- เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ
คาดว่าจะมีผลดีสืบเนื่องหลายประการ คือ
- การมี “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ” ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ
- บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
- ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
กิจกรรม
เชิญชวนให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมเนื่องใน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ในวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยจัด ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการจัดนิทรรศการ, การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน ฯลฯ
.... เห็นศิลาจารึกมินึกเศร้า
แม้ใครเขาขัดข้องต้องถกเถียง
เจาะภาษาจากใจไม่เอนเอียง
คล้องจองเสียงเยี่ยงกังสดาลหวานจับใจ
เอกลักษณ์ของชาติคือปรารถนา
เติบโตมาตามกาลผ่านยุคสมัย
จะยุคนี้ยุคโน้นหรือยุคใด
ขอเพียงไทยมีภาษาข้า ฯ ขอบคุณ
ขอเดชะฯ บารมีที่ล้ำเลิศ
วันภาษาไทยก่อเกิด ธ เกื้อหนุน
ยี่สิบเก้ากรกฎา ธ การุญ
ภาษาไทยของพ่อขุนจึงเบ่งบาน
แม้ใครเขาขัดข้องต้องถกเถียง
เจาะภาษาจากใจไม่เอนเอียง
คล้องจองเสียงเยี่ยงกังสดาลหวานจับใจ
เอกลักษณ์ของชาติคือปรารถนา
เติบโตมาตามกาลผ่านยุคสมัย
จะยุคนี้ยุคโน้นหรือยุคใด
ขอเพียงไทยมีภาษาข้า ฯ ขอบคุณ
ขอเดชะฯ บารมีที่ล้ำเลิศ
วันภาษาไทยก่อเกิด ธ เกื้อหนุน
ยี่สิบเก้ากรกฎา ธ การุญ
ภาษาไทยของพ่อขุนจึงเบ่งบาน